ประวัติคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (FACULTY OF ECONOMICS, RANGSIT UNIVERSITY)

       ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 ได้กระทบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนอย่างรุนแรง เกิดการล้มละลายของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน ภาวะวิกฤติทำให้เกิดความตกต่ำของรายได้และผลผลิต หนี้สินพอกพูน การว่างงานพุ่งสูง ประชาชนยากจน ภาครัฐแบกรับภาระหนี้สินและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก จากภาวะดังกล่าว ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องมีการผลิตกำลังคนทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ และปัญหาเศรษฐกิจที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทั้งปัญหาความยากจน และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ท่านมีความมุ่งหวังให้บัณฑิตเศรษฐศาสตร์เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงมีดำริให้ก่อตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เป็นคณะลำดับที่ 18 ของมหาวิทยาลัยรังสิต

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์

        คณบดีคนแรกของคณะเศรษฐศาสตร์คือ ดร.โฆษะ อารียา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ (International Program) ขึ้นมาก่อนและเริ่มแรกเปิดสอนในโครงการนานาชาติ ต่อมาในปีการศึกษา 2544 ได้จัดทำหลักสูตร เศรษฐศาสตรบัณฑิตภาคภาษาไทย และได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปิดดำเนินการเมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 และเริ่มเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คณบดีคนที่สองของคณะคือ ดร.ณัฐพล ขันธไชย ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งระหว่าง ปี พ.ศ. 2547 – 2548 คณบดีคนที่สามของคณะ คือ ผศ.จินตนา เชิญศิริ ทำหน้าที่รักษาการคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2549 คณบดีที่คนที่สี่ของคณะ คือ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2549 – 2562 คณบดีคนปัจจุบัน คือ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 – ปัจจุบัน ในปี 2562 ท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีวิสัยทัศน์ในการบูรณาการความรู้ทางสายสังคมศาสตร์ ด้วยเล็งเห็นการศึกษาได้พัฒนามาถึงจุดอิ่มตัวของแนวคิดทฤษฎีแบบแยกส่วน ที่มุ่งเน้นการสร้างความชำนาญเฉพาะส่วน แต่ยังขาดการบูรณาความรู้เข้าด้วยกัน  ดังนั้น ท่านจึงริเริ่มให้สายสังคมศาสตร์เริ่มต้นการบูรณาการความรู้แบบองค์รวม(holistic) ด้วยการบูรณาการความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์ และการทูตเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับองค์ความรู้แบบ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ซึ่งเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจ ในการจัดสรร แบ่งปัน แข่งขัน และช่วงชิงความมั่งคั่ง โดยเฉพาะปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้ทุกประเทศเชื่อมร้อยเศรษฐกิจเข้าหากัน ผ่านการครอบงำของประเทศที่มีพลังอำนาจสูงกว่า เข้าควบคุมและแย่งชิงทรัพยากรในประเทศที่มีพลังอำนาจน้อยกว่า หรือการแย่งชิงความเป็นเจ้า ดังปรากฏให้เห็นเป็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ที่ได้พลิกฟื้นแนวคิดพาณิชย์นิยมใหม่ แนวคิดชาตินิยมใหม่ ดังวาทะกรรมของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ คือ “America Frist” ได้ทำให้ประเด็นทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลายเป็นประเด็นสำคัญของโลกที่มีผลกระเทือนต่อทุกชีวิตในโลกขณะนี้ ดังนั้น ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต จึงดำริให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และโลกาภิวัตน์ ขึ้น พร้อมทั้งจัดตั้งสถาบันเศรษฐศาสตร์ สถาบันรัฐศาสตร์ และสถาบันการทูต ให้อยู่ภายใต้ร่มธงของวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อให้องค์ความรู้เชื่อมร้อยทั้งสามสาขาเข้าด้วยกัน ผ่านการเรียนการสอน การประชุมทางวิชาการ และการทำกิจกรรมร่วมกันของทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของทั้งสามสถาบัน และในปี 2562 โดยการริเริ่มของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน  ท่านได้จัดตั้งหลักสูตรดุษฏีบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนา (International Political Economy and Development) ขึ้น และเริ่มเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรนี้ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรขั้นสูงในการบูรณาการความรู้เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการทูต(การต่างประเทศ)เข้าด้วยกัน เป็นการเรียนการสอนที่ไม่มีห้องเรียน ไม่มีการสอนบรรยาย เน้นทำวิทยานิพนธ์ 100% ที่คุณภาพสูง
ความท้าทายใหม่ของวิทยาลัยรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และโลกาภิวัตน์ คือ การปรับเนื้อหาและการเรียนการสอนให้บูรณาการทั้งสามสถาบัน และจะเริ่มดำเนินการใช้หลักสูตรบูรณาการนี้ในปีการศึกษา 2563  ในส่วนการเรียนการสอนจะมีวิชาเรียนและการจัดห้องเรียนให้นักศึกษาทั้งสามสถาบันได้เรียนร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็นจากเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากสาขาอื่น นับว่าเป็นผลพลอยได้ที่นักศึกษาจะได้ฝึกฝนล่วงหน้าในการเรียนรู้และรับฟังความเห็นของผู้คนที่มาจากต่างสาขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยในเรื่องการเข้าสังคมและจะต้องนำไปใช้ในชีวิตการทำงานอีกด้วย นอกจากนี้นักศึกษาเศรษฐศาสตร์จะได้เรียนวิชาทางด้านรัฐศาสตร์และการทูตด้วย สิ่งจะช่วยขยายปริมณฑลของความรู้ ไม่ให้จำกัดเฉพาะความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ “เปรียบเหมือนจอมยุทธ์ที่มีมีดหลายเล่ม” ซึ่งจะช่วยนักศึกษาขยายโอกาสในตลาดงานได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น การเป็นนักยุทธศาสตร์ขององค์การ การทำงานในองค์กรธุรกิจและราชการด้านต่างประเทศ อาทิ ทูตพาณิชย์ ธุรกิจนำเข้าส่งออก ผู้แทนการค้าในต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากการบูรณาการความรู้ของเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการทูต แล้ว สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีการศึกษา 2563 คือ ปรับปรุงหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต ให้เป็นหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ขยายฐานจากหลักสูตรมหาบัณฑิตเศรษฐกิจ สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ที่กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยรังสิตเป็นแห่งแรกที่มีหลักสูตรนี้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งพัฒนามาจากหลักสูตรเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ (พ.ศ.2554) โดยจะมีการนำเนื้อหาเกี่ยวกับ Big Data และ Block Chain เข้าสู่ห้องเรียนนักศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์อีกด้วย

และในปี 2563 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรมหาบัณฑิตเศรษฐกิจ สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเติมเนื้อหาเครื่องมือดิจิทัลและ Big Data ในการคาดการณ์และการตัดสินใจทางการวางแผนและนโยบาย และได้เพิ่มการศึกษาปริญญาโท เป็นหลักสูตรที่ไม่มีห้องเรียน แต่จะให้ทำวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตแบบ 100% อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี ที่จะทวีความสำคัญเมื่อยุค Internet of Thing เข้าสู่พื้นที่ของทุกครัวเรือนผ่านระบบเครือข่าย 5G ที่จะพลิกโฉมการใช้ชีวิต อาชีพ และการทำงาน ของทุกคน

ปรัชญาคณะเศรษฐศาสตร์

      คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีปรัชญาที่จะเป็นคณะที่มีส่วนในการชี้นำสังคม เสริมสร้างความเป็นธรรม ความก้าวหน้า และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจที่ทันเหตุการณ์ และร่วม ผลักดันสังคมธรรมาธิปไตย

ปณิธานของคณะเศรษฐศาสตร์

      คณะเศรษฐศาสตร์ มีปณิธานที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกที่ดี และสามารถรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างเหมาะสม

วิสัยทัศน์ของคณะเศรษฐศาสตร์

      คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในการให้การศึกษาวิชาการเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ดิจิทัล และเศรษฐศาสตร์การเมือง ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ มีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถเป็นฐานใน การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของชาติ