การเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป ทุกมหาวิทยาลัย ก็จะเรียนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ(เศรษฐกิจมหภาค) และเศรษฐกิจระดับธุรกิจ(เศรษฐกิจจุลภาค) และวิชาอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับสองด้านนี้ เช่น เกี่ยวกับการเงินการธนาคาร การลงทุน การค้าระหว่งประเทศ เป็นต้น
แต่ที่สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เราเห็นว่า การเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นการเรียนรู้เรื่องการดำรงชีพของมนุษย์ ด้านการบริโภค ด้านการผลิต ด้านการแลกเปลี่ยน (ค้าขาย) และด้านเงินตรา ทั้งหมดนี้ ผู้มีบทบาทดำเนินการ คือ รัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไป ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับบทบาทของเศรษฐกิจภาคเอกชน (private sector) และเศรษฐกิจภาครัฐ(public sector) เหมือนๆ กันหมด
ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เราก็ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภาครัฐและภาคเอกชนเท่ากับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่ที่เรามีมากกว่า คือ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภาคประชาชน(people sector หรือ third sector) และให้ความสำคัญกับเศรษฐศาสตร์การเมือง(political economy) ที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งและพลังอำนาจ(wealth and power) ซึ่งในทุกสังคม ได้ปรากฏรูปธรรมต่างๆ ว่า ผู้ที่มีความมั่งคั่งมาก ก็จะใช้ความมั่งคั่งไปแสวงหาอำนาจ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐ(state power) ก็จะใช้อำนาจรัฐไปแสวงหาความมั่งคั่ง
ในยุคสมัยนี้ เราเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล(digital economy) เราจึงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของอินเตอร์เน็ต ทางสถาบันจึงมีทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโทเศรษฐกิจดิจิทัล
ด้านปริญญาเอก เราเปิดหลักสูตรปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาและตอบโจทย์ปัญหาของกระแสโลก ที่กำลังผันผวนปรวนแปรอย่างรุนแรงทั่วด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้า สงครามความเชื่อและอุดมการณ์ สงครามข่าวสาร สงครามช่วงชิงการนำ สงครามเทคโนโลยี สงครามเงินตรา ที่กำลังขับเคี่ยวกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย และยุโรป ล้วนแต่เป็นมิติของเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนา ที่ส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ จำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจ และจัดการภาวการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหญ่ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศของตนเอง