การทำงานในโลกความเป็นจริงยุคปัจจุบัน อาชีพหนึ่งๆ ไม่อาจใช้ความรู้ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวได้ เช่น การจะเป็นทูตพาณิชย์ จำเป็นต้องมีความรู้ด้านต่างประเทศ ภาษา และเศรษฐศาสตร์ การเป็นปลัดอำเภอ ปลัดตำบล ก็จำเป็นต้องมีความรู้รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารงาน ประกอบการที่โลกกำลังก้าวสู่ยุคดิจิทัล คนทำงานต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่จะทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการทำงานเหมารวมตามระยะเวลา รายเดือน รายวัน กลายเป็นการทำงานรายชิ้น จากการทำงานที่สำนักงานกลายเป็นการทำงานที่บ้านหรือที่อื่นทั่วทุกมุมโลก จากการแบ่งงานกันทำตามความถนัดแยกย่อย ก็กลายเป็นการทำงานที่ต้องใช้ทักษะหลายด้านพร้อมกัน(multi skill) เราจึงเห็นการยุบรวมแผนกย่อยในองค์กรต่างๆ มีการลดกำลังคน และรักษาคนที่มีทักษะหลายด้านไว้ในองค์กร โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเสริมศักยภาพของคนทำงานมากขึ้น
ในมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการบูรณาการคณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และสถาบันการทูต เป็นวิทยาลัยรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และโลกาภิวัตน์ และได้ริเริ่มโครงการหลักสูตรสองปริญญา (Double degree) เพื่อให้นักศึกษาได้รู้รอบ และรู้ลึก ในสามสาขาวิชานี้ ที่สำคัญในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ได้ปรับเป็นหลักสูตรเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Blockchain และ Big Data ทั้งนี้ หลักสูตรสองปริญญาจะช่วยลดเวลาการศึกษาของทั้งสองหลักสูตรลงเหลืองเพียงประมาณ 4.5 ปี ในการทำสองปริญญาพร้อมกัน จึงสามารถลดค่าเล่าเรียนลงได้มาก เมื่อสำเร็จการศึกษาสองปริญญาแล้ว จะเพิ่มโอกาสในการหางานทำในตลาดแรงงานได้ง่ายกว่าและมากขึ้น หรือหากจะเป็นผู้ประกอบการ ก็จะมีทักษะหลายด้านที่จะนำไปสู่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
ในปีการศึกษา 2566 นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ สามารถศึกษาสองปริญญาได้ดังนี้
1)ปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิต (สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล) + รัฐศาสตรบัณฑิต อาชีพที่รองรับสองปริญญานี้คือ ในภาคราชการ ได้แก่ ปลัด อบต. ปลัดอำเภอ นักบริหารการคลังท้องถิ่น และสามารถพัฒนาในระยะยาวไปสู่ตำแหน่งนายอำเภอ ปลัดจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ในภาคเอกชน สามารถทำงานในฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ของบริษัท เป็นต้น
2)ปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิต (สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล) + ศิลปศาสตรบัณฑิต (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการพัฒนา) อาชีพที่รองรับสองปริญญานี้ คือ การทำงานในภาคราชการและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น นักการทูต (ทูตพาณิชย์ ทูตแรงงาน) ผู้ประสานงานองค์กรระหว่างประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ประจำองค์กรระหว่างประเทศ ในภาคเอกชน เช่น ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ผู้จัดการหรือผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศของธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เป็นต้นและในอนาคต จะนำไปสู่การขยายการศึกษาสองปริญญาระหว่างเศรษฐศาสตร์ที่วิชาพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้ บวกกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่เปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยรังสิต เช่น เศรษฐศาสตรบัณฑิต + วิศวกรรมศาสตร์ อาชีพที่รองรับ เช่น วิศวกรวางแผนและควบคุมงานทั้งด้านวิศวกรรมและด้านการจัดการ เป็นต้น เศรษฐศาสตรบัณฑิต + นวตกรรมดิจิทัล อาชีพที่รองรับ เช่น พนักงานหรือฝ่ายบริหารธนาคารด้านเทคโนโลยีทางการเงิน เศรษฐศาสตรบัณฑิต + เภสัชศาสตร์ อาชีพที่รองรับ เช่น นักวางแผนและจัดการของบริษัทยาและโรงพยาบาล เศรษฐศาสตรบัณฑิต + บัญชี อาชีพที่รองรับ เช่น ผู้ตรวจสอบ, chief financial officer (CFO), ผู้ตรวจสอบบัญชีของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เศรษฐศาสตรบัณฑิต + นิติศาสตร์ อาชีพที่รองรับ เช่น นักกฎหมายคดีเศรษฐกิจ หรือพนักงานคดีเศรษฐกิจของกระทรวงยุติธรรม