รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
13 พฤษภาคม 2551
โลกาภิวัตน์ (globalization) เป็นคำแห่งยุคสมัยของโลกปัจจุบัน แต่ความเข้าใจของแต่ละกลุ่มคนดูจะแตกต่างกัน มีทั้งกลุ่มคนที่ชอบและกลุ่มคนที่ไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม โลกาภิวัตน์ได้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และคลี่คลายขยายตัวต่อไป ทั้งในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ก่อให้เกิดผลทั้งดีทั้งเลวให้แก่กลุ่มคนและสังคมในโลกนี้ สังคมไทยตกอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ที่ไม่อาจหลีกพ้นจากทั้งผลดีและผลเสียของมัน ปัญหาว่าประเทศไทยจะอยู่กับมันอย่างไร เราจะมีแนวคิดและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์อย่างไร จึงจะสามารถลดข้อเสียลงได้ และใช้ข้อดีของมันให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย
- อะไรคือโลกาภิวัตน์
นักคิดนักวิชาการต่างสาขา ให้มุมมองและความหมายของคำว่า โลกาภิวัตน์ที่แตกต่างกันไป แต่กล่าวโดยสาระร่วม ต่างเห็นร่วมกันว่า โลกาภิวัตน์ เป็นภาวะหรือยุคสมัยของการที่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในทุกภาคส่วน ในทุกภูมิภาคในทุกประเทศ เชื่อมต่อถึงกันแผ่กระจายถ่ายเทจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งบนโลกนี้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด แต่รูปธรรมที่เด่นชัดที่สุดของการแผ่กระจายถ่ายเทไปทั่วทุกถิ่นแดนในโลกนี้ ก็คือ การแผ่กระจายถ่ายเทของทุน และข่าวสารข้อมูล ดังนั้นถ้ากล่าวอย่างแคบ ภาวะโลกาภิวัตน์ จึงหมายถึงภาวะความเป็นไปตามกระแสโลก เมื่อโลกนี้เป็นโลกที่ครอบงำโดยทุน การเป็นไปตามโลก็หมายถึงเป็นไปตามกระแสทุน กระแสทุนที่ไหลถ่ายกระจายแผ่ไปทั่วโลก ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน